ในช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลดลงทำระดับต่ำสุดในรอบหลายปี กดดันจากภาวะดอกเบี้ยในระดับสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงปัจจัยการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ หากพิจารณาราคาของหุ้นรายตัวในหลายบริษัทจดทะเบียน พบว่าราคาหุ้นลงไปอยู่ในระดับโซนเดียวกับช่วงการเกิด COVID-19 สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้ก็คือ หลายบริษัทได้ประกาศซื้อหุ้นบางส่วนคืนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นของบริษัทตัวเองนั้นปรับตัวลดลงมากจนเกินไป พร้อมกันกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาด ว่าแนวโน้มทางธุรกิจของบริษัทยังดีอยู่ สวนทางกับทิศทางราคาหุ้นที่ลงมา
นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นแล้วนั้น ทางทฤษฎีแล้วการซื้อหุ้นคืนบางส่วนออกมาจากตลาดจะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้ถือหุ้นจะได้รับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานและเงินปันผลต่อหุ้นจากบริษัทมากขึ้น เนื่องจากตัวหารที่เป็นจำนวนหุ้นมีน้อยลง นอกจากนี้ จำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในการซื้อขายที่มีน้อยลงทำให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหุ้นในตลาดต้องเพิ่มราคาเสนอซื้อที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้หุ้นตามที่ต้องการ
การที่ราคาหุ้นสูงขึ้นจากผลของการซื้อหุ้นคืนดูเหมือนจะส่งผลดีกับบริษัทและผู้ถือหุ้น และในหลายบริษัทก็น่าจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดและผลกระทบสำคัญที่นักลงทุนควรพึงระวังไว้ นั่นคือ การที่บริษัทต้องยอมเสียเงินสดในงบการเงินและสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่เพื่อใช้ในการซื้อหุ้นคืน ดังนั้น หากบริษัทใดที่มีสภาพคล่องน้อยเมื่อเทียบกับภาระหนี้สินและภาระการลงทุนที่มี หรือเทียบกับขนาดของธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางถึงขนาดเล็ก อาจส่งผลให้ธุรกิจชะงักงัน หรือไม่สามารถสร้างการเติบโตอย่างที่ผู้ถือหุ้นเคยคาดหวังได้ นอกจากการประเมินสภาพคล่องจากงบการเงินที่เห็นในปัจจุบันแล้วนั้น การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจของบริษัทในอนาคตด้วยตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่าบริษัทจะส่งสัญญาณผ่านการซื้อหุ้นคืนว่าธุรกิจของบริษัทยังไปได้ดีก็ตาม โดยที่นักลงทุนต้องประเมินความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่จะยังคงรักษารายได้และผลกำไรของบริษัทเอาไว้ เนื่องจากผลประกอบการในอดีตที่เคยดีของบริษัทนั้นไม่สามารถบอกได้ถึงรายได้และกำไรในอนาคต รวมไปถึงแผนธรุกิจของคู่แข่งและแนวโน้มอุตสาหกรรมที่บริษัทนั้นทำธุรกิจอยู่ และถึงแม้ว่าในกรณีที่บริษัทมีจุดแข็งทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่ง แต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาลงหรือถูกสิ่งใหม่เข้ามาทดแทน (Disrupt) ก็มีความเสี่ยงที่ผลประกอบการจะปรับตัวลดลง การซื้อหุ้นคืนในสถานการณ์ดังกล่าวก็อาจไม่เป็นผลดีกับตัวบริษัทได้ในอนาคต
ปิดท้ายด้วยตัวอย่างความสำเร็จในการซื้อหุ้นคืนที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาสำหรับกรณีการซื้อหุ้นคืนใดๆ ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น อาทิเช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ซึ่งมีกระแสเงินสดที่เข้มแข็งและเติบโตได้ทุกปีจากโมเดลทางธุรกิจที่เหนือคู่แข่ง มีภาระหนี้สินในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบ ทำให้สามารถประกาศซื้อหุ้นคืนได้ในทุกๆ ปี ส่งผลให้ราคาหุ้นทำระดับสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่มีความท้าทายในแต่ละปีก็ตาม ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนไทยที่เห็นได้ในเชิงประจักษ์ ได้แก่ การซื้อหุ้นคืนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงล่าสุด หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารโดยรวมเลือกใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่เนื่องจากกังวลต่อการนำมาสู่หนี้ที่
ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดยที่ทิศทางธุรกิจของธนาคารในอนาคตคาดว่าจะยังคงสามารถรักษาระดับกำไรได้เนื่องจากจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย ส่งผลให้มีสภาพคล่องในธนาคารเหลืออยู่มากเกินความจำเป็นสำหรับทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงนำเงินส่วนเกินจ่ายออกมาเป็นเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืน ซึ่งเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการนำไปสร้างการเติบโต และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทยที่ราคาหุ้นสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ในปีที่ผ่านมาท่ามกลางทิศทางขาลงของตลาดหุ้นไทย