ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านไป หลายๆ ท่านอาจได้ยินข่าวการประกาศใช้นโยบายภาษีการค้าระหว่างประเทศ โดยเรียกเก็บภาษีจากสินค้าที่มีการนำเข้าสหรัฐฯ ที่อัตราสูงถึงระดับประมาณกว่า 40% สำหรับสินค้าจากบางประเทศ โดยให้เหตุผลถึงเป้าหมายในการฟื้นฟูการผลิตของอเมริกาและลดการขาดดุลการค้า ซึ่งบางประเทศก็มีการตอบโต้อย่างทันท่วงที ด้วยการประกาศว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในลักษณะเดียวกันจากสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เข้าสู่ภาวะที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามการค้า ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีศุลกากรหรือใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าอื่นๆ ต่อกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น กระทบต่อทั้งผู้บริโภคที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นและภาคธุรกิจที่จะเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว เราได้เห็นตลาดหุ้นเกือบจะทั่วโลกปรับตัวลดลงในเดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป โดยเริ่มมีการพูดถึงความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือการที่เศรษฐกิจประสบกับภาวะตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการลดลงของ GDP ติดต่อกันหลายไตรมาส และมีอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เริ่มมองว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะดังกล่าวสูงขึ้น โดยปัจจัยหลักก็คือนโยบายการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เรามองว่าฝั่งสหรัฐฯ ตั้งใจใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองเพื่อให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งสุดท้ายแล้ว อัตราภาษีที่เรียกเก็บจะไม่สูงเท่าตัวเลขที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดการณ์ และทำให้เศรษฐกิจโลกเพียงแค่ชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงกับเป็นภาวะถดถอย
ในสถานการณ์เช่นนี้ การตัดสินใจลงทุน ควรต้องพิจารณาการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทให้รอบคอบ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น หากมีระยะเวลาการลงทุนไม่ยาวนาน อาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง เช่น ตราสารหนี้ เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนในตราสารทุน ควรพิจารณาผลกระทบของสงครามการค้า ต่ออุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย อาจเป็นกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ ที่ความต้องการบริโภคไม่ได้เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกลุ่มสาธารณูปโภค เช่น ผู้ให้บริการไฟฟ้า น้ำ และก๊าซธรรมชาติ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่า คือกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ และผู้ผลิตสินค้าประเภท luxury goods ที่อาจมีความต้องการลดลงหากเศรษฐกิจอ่อนแอ เป็นต้น นอกจากนี้ การเน้นลงทุนในบริษัททีมีคุณภาพ (high quality) เป็นเรื่องสำคัญที่จะลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยบริษัทที่มีคุณภาพจะยังสามารถรักษาฐานะการเงินที่แข็งแกร่งได้แม้ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น