ในช่วงที่ผ่านมา ช่วงที่ตลาดหุ้นในประเทศมีความผันผวน ท่านผู้อ่านอาจได้เห็นบทความที่เกี่ยวกับการลงทุน มีการพูดถึงมุมมองจากนักลงทุนหลายๆ ท่าน ที่ถูกเรียกว่าเป็นนักลงทุนแนว VI หรือ Value Investor และอาจเกิดความสงสัยอยากรู้ ในบทความนี้ เราจึงนำแนวคิดการลงทุนแบบ Value Investing หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า มาเล่าให้ท่านผู้อ่านเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและหลักการของการลงทุนแบบดังกล่าว
การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นเรื่องการคัดเลือกหุ้นที่ซื้อขายในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือ Intrinsic Value ซึ่งคือมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานทางการเงินและศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต โดยนักลงทุน VI เชื่อว่ามูลค่าที่แท้จริงมักจะต่างจากราคาตลาด ซึ่งอาจถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก เช่น ความต้องการของตลาดหรือความรู้สึกของนักลงทุน แนวคิดนี้ถูกบุกเบิกโดยเบนจามิน เกรแฮม ในทศวรรษที่ 1930 และหนึ่งในผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงที่สุดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นนักเรียนของเกรแฮม และเป็นผู้ที่ได้นำหลักการเหล่านี้มาใช้ตลอดอาชีพนักลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่การซื้อบริษัทที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมและถือครองในระยะยาว
แก่นของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือการมองหาบริษัทที่ราคาหุ้นไม่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งมักเกิดจากปัญหาชั่วคราวหรือการตอบสนองเกินจริงของตลาด และซื้อหุ้นที่มีมูลค่าต่ำเหล่านี้และถือครองจนกว่าตลาดจะรับรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริง และสะท้อนมายังราคาหุ้นเพิ่มขึ้น โดยช้แครื่องมือต่างๆ ในการวิเคราะห์ เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล โดยต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจฐานะการเงินของบริษัท ตำแหน่งทางการแข่งขัน และโอกาสในอนาคต หรือที่เราเรียกกันว่าการทำการบ้านในการวิเคราะห์หุ้นนั่นเอง
การลงทุนแบบเน้นคุณค่ามักจะทำงานได้ดีในระยะยาว เนื่องจากอาจใช้เวลานานก่อนที่ตลาดจะรับรู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น โดยผู้ลงทุนจะต้องมีความมั่นใจในความสามารถในการวิเคราะห์มูลค่าบริษัท และสามารถถือหุ้นที่คัดเลือกแล้วเป็นเวลานานๆ ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดยังไม่รับรู้มุลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นๆ และราคาหุ้นอาจมีการปรับลดลง โดยความเสี่ยงสำคัญที่ต้องระวัง คือการตกอยู่ในกับดักมูลค่า (Value Trap) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหุ้นดูเหมือนจะมีมูลค่าต่ำกว่าความจริง แต่ในความเป็นจริงเกิดจากพื้นฐานของบริษัทที่แย่ลง และราคาต่ำนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลแล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัทอาจมีความไม่มั่นคงทางการเงินอย่างต่อเนื่องหรือขาดศักยภาพในการเติบโต ทำให้เป็นการลงทุนที่ไม่ดีแม้ว่าราคาจะดูน่าสนใจ
โดยสรุปแล้ว การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นแนวทางที่มุ่งหวังจะใช้ประโยชน์จากความไม่สมบูรณ์ของตลาดหุ้น โดยการมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท โดยผู้ลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์บริษัท และใช้ความอดทนและมีวินัยในการที่จะถือหุ้นของบริษัทที่คัดเลือกมาแล้วเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดอาจไม่เป็นใจ