TH EN

ทำไมธุรกิจ เทคโนโลยีการศึกษาออนไลน์ ถึงกลายเป็น Mega Trend?

โพสต์เมื่อ 29 มิถุนายน 2563 | บทความโดย : คุณณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)

หลังโควิด หนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากที่สุด ก็คือ “การศึกษา” เมื่อโรงเรียนปิด เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้เหมือนเดิม การศึกษาออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทในเรื่องการเรียนรู้ของคน … เราจะพาคุณไปเจาะลึกในธุรกิจ “Edutainment” หรือ “การศึกษาออนไลน์” ว่าทำไมจึงน่าสนใจ จนเรียกได้ว่าติดหนึ่งใน Mega Trends ที่น่าจับตา

ตอบโจทย์ความรู้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ...

การผสมผสานระหว่างธุรกิจด้านการศึกษา (Education) และธุรกิจที่ให้ความบังเทิง (Entertainment) ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเรียกรวมกันว่า “Edutainment” ได้ช่วยฉีกข้อจำกัดด้านการศึกษา ในเรื่อง “เวลา” และ “สถานที่”  ไปแบบสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการศึกษาบางแห่ง ที่ใช้เครื่อง VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ช่วยทำให้นักเรียกเห็นโลกเสมือนจริง แถมยังอำนวยความสะดวกในการศึกษา และลดอุปสรรค ในเรื่องการใช้ “เวลา” ในการเดินทางไปเรียน ใน “สถานที่” ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ลดปัญหาค่าเรียนแพง

นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เติบโตเร็วกว่าค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จากการแข่งขันของมนุษย์ที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต โดยตั้งแต่ปี 1978 จนถึงปี 2017 ค่าใช้จ่ายในการศึกษาในประเทศสหรัฐฯเพิ่มสูงถึง “1,255%” เป็นอัตราที่พุ่งขึ้นมากกว่าค่าใช้จ่ายด้าน Healthcare ซึ่งขยายตัวเพียง 634% และมากกว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ทั้งค่าที่อยู่อาศัย เงินเฟ้อและค่าอาหาร (ดูแผนภาพที่ 1) 

ดังนั้น จึงมีธุรกิจด้าน “Edutainment” หลายแห่งที่พยายามคิดโครงสร้างธุรกิจ เพื่อที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการศึกษาลง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Chegg Inc. ที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนหนังสือตำราเรียน ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริการนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ มีผู้ใช้บริการสูงเกือบ 3 ล้านคน และไม่เพียงเท่านี้ บริษัทยังใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของกลุ่มนักเรียนที่ใช้บริการ เพื่อนำเสนอบริการอื่นๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น บริการติวเตอร์ การสอนการบ้าน และช่วยจัดหาที่ฝึกงานอีกด้วย

เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนการเรียนให้เป็นเรื่องสนุก

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ “Snapask” แอปพลิเคชันติวเตอร์ออนไลน์ ที่เจาะกลุ่มนักเรียนได้แบบตรงเป้า เพราะแอปฯ นี้ ได้รวบรวมผู้ช่วยติวการบ้าน ทบทวนบทเรียนใน 5 วิชาปราบเซียน คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และภาษาอังกฤษ ให้ถามกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยผู้ใช้บริการจะมีตั้งแต่นักเรียนชั้นมัธยมต้น จนถึงมัธยมปลาย  ส่วนวิธีการใช้งานก็ง่ายๆ โดยการนำคำถามหรือข้อสงสัยในวิชาต่างๆ ที่หาคำตอบไม่ได้ ถ่ายรูปแล้วส่งเข้าไปในแอปฯ จากนั้นแอปฯ จะจับคู่กับติวเตอร์ให้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที แล้วติวเตอร์ก็จะช่วยอธิบายและช่วยทำให้เด็กเข้าใจคำถามได้ 

ความสำเร็จของแอปฯ นี้ พิสูจน์ได้จากยอดการดาวน์โหลด โดยหลังจากมีการเปิดตัวแอปฯ ตั้งแต่ปี 2017 ประมาณ 3 ปีได้ มีเด็กดาวน์โหลดไปแล้วประมาณ 700,000 คน เฉพาะในเมืองไทย และมีติวเตอร์เข้ามาใช้งานมากกว่า 5,000 คน ปัจจุบันเปิดตัวไปแล้วประมาณ 10 ประเทศ รวมประเทศไทย มีผู้ใช้ประมาณ 3 ล้านคน ...ยอดผู้ใช้ที่พุ่งขนาดนี้ น่าจะพอสะท้อนได้ว่า ผู้ใช้แฮปปี้มากๆ

 

สนใจลงทุนธุรกิจ Edutainment

ปัจจุบันธุรกิจ Edutainment มีให้ลงทุนในประเทศไทยไม่มากนัก อย่างไรก็ตามทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถทำได้ก็คือ การซื้อผ่านกองทุนรวมนั่นเอง

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน