TH EN

5 กลุ่มโรคร้ายแรง ที่คนไทยเสียชีวิตสูงสุด

โพสต์เมื่อ 13 มกราคม 2563 | โดย : คุณวิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT™ Assistant Wealth Manager

หลายปีที่ผ่านมามีคนไทยที่เสียชีวิตด้วย “โรคร้ายแรง” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่น่ากังวลมากกว่านั้น ก็คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลของแต่ละโรค เรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก... คุณคิดว่าตัวเองพร้อมแค่ไหน หากโชคร้ายมาเยือน ?

เล่าให้ฟังกันก่อนดีกว่าว่า ในปัจจุบันสถิติการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 5 กลุ่มโรคร้ายแรง กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มโรคร้ายแรงที่มีผู้ป่วยอยู่ในระดับสูง ได้แก่

  • กลุ่มโรคมะเร็ง 
  • โรคหัวใจ 
  • โรคปอด 
  • โรคหลอดเลือดในสมอง 
  • โรคเบาหวาน 

ทั้งนี้จากสถิติการเสียชีวิต ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2537 - 2560 อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดของคนไทยเป็นสาเหตุอันดับ 1 โดยในปี พ.ศ. 2537 โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 48.9 คน ต่อประชากร 100,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 120.5 คน หรือเกือบ 3 เท่าตัว ในปี พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกับกลุ่มโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากกลุ่มโรคปอดเพิ่มขึ้นจาก 13.8 คน เป็น 45.3 คน นอกจากนี้จำนวนคนที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมองและเบาหวานก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 10.6 คน และ 7.2 คน ในปี พ.ศ. 2537 เป็น 47.8 คน และ 22 คน ในปีพ.ศ.2560 ตามลำดับ ต่อประชากร 100,000 คน ดังแสดงในแผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1: อัตราการเสียชีวิตของคนไทย (พ.ศ. 2537 - 2560) จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่อประชากร 100,000 คน

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB)

จากแผนภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่ามีแค่โรคหัวใจเท่านั้นที่อัตราการเสียชีวิตของคนไทยลดลงในช่วง พ.ศ. 2537 - 2560 แต่แนวโน้มการเสียชีวิตของคนไทย ด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็ว

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อมาดูค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มโรคร้ายแรงต่างๆ จะพบว่าค่ารักษาพยาบาลอยู่ในระดับที่สูงมากทุกกลุ่มโรค

แผนภาพที่ 2: ตารางแสดงการเปรียบเทียบตัวอย่างค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคร้ายแรงระหว่างโรงพยาบาลรัฐฯ และโรงพยาบาลเอกชน

ที่มา: Posttoday, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), Gettogo, AIA Manage Care รพ.บำรุงราษฎร์, Ccit.go.th, Bangkok Hospital

จะเห็นได้ว่า ในแผนภาพที่ 2 นั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลใน “โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ” สูงกว่าค่ารักษาของโรงพยาบาลของรัฐฯ อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ค่าผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจในโรงพยาบาลรัฐฯ ซึ่งหากรักษาในโรงพยาบาลเอกชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่ารักษาจากโรงพยาบาลของรัฐฯ ถึง 3 - 6 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น ด้วยปัจจัยด้าน แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมกับค่ารักษาพยาบาลที่อยู่ในระดับสูงมาก ผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียม “เงินก้อน” ไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล หรือไว้รองรับค่าใช้จ่ายในครอบครัว ระหว่างที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจนไม่สามารถหารายได้สำหรับการใช้จ่ายได้ 

การทำ “ประกันโรคร้ายแรง” จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีในเรื่องนี้ เพราะประกันโรคร้ายแรงมักจะมีระดับค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก แต่ได้วงเงินความคุ้มครองในระดับที่สูง ซึ่งอาจเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นไดั

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน