TH EN

เปิดวิธีรับมือ เมื่อเสียรู้มิจฉาชีพ

                            

โพสต์เมื่อ 14 ธันวาคม 2566 | บทความโดย : TISCO

 

           ปัจจุบันมีมิจฉาชีพแอบอ้างและพยายามหลอกลวงเอาเงินด้วยวิธีที่แนบเนียน และมีเทคนิคหลากหลายขึ้น ส่งผลให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ดังนั้นการรู้วิธีรับมือมิจฉาชีพเบื้องต้นไว้ย่อมลดโอกาสสูญเสียทรัพย์สิน และเพิ่มโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามจับผู้กระทำผิดได้

 

โดนหลอกโดยแก๊ง Call Center

 
            เป็นอีกหนึ่งในวิธีหลอกเงินที่พบได้มาก ซึ่งหากเราตกเป็นเหยื่อแล้วควรรีบแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อรายงานตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์ / อินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านระบบ / กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานรัฐ อาทิ ตำรวจ สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการจัดการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทันท่วงที นอกจากนี้ผู้เสียหายควรรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนเงินดังกล่าว รวมถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

 

 

มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้งโปรแกรม Remote หรือ แอปดูดเงิน

            สำหรับกรณีถูกหลอกให้ติดตั้งโปรแกรม Remote หรือติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม (ไฟล์ติดตั้งมักเป็นนามสกุล .apk) โดยใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ที่เมื่อแอปพลิเคชันใดๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้ ดังนั้นหากเหยื่อถูกหลอกด้วยวิธีนี้ ควรรีบปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force Reset แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ดหรือตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (เช่น ปิดเครื่องหรือเปิดโหมดการบิน) จากนั้นให้ติดต่อธนาคาร และดำเนินการแจ้งความทันทีหากเกิดความเสียหาย

 

 

มิจฉาชีพหลอกลงทุน / หลอกให้ทำงาน

 
            อีกหนึ่งรูปแบบการหลอกลวงที่ใช้วิธีการจูงใจคือ การหลอกลงทุนออนไลน์ หรือหลอกทำงานผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมิจฉาชีพอาจประกาศรับสมัครงานพร้อมโฆษณาจูงใจ เช่น ลงทุนน้อยแต่ให้ค่าคอมมิชชันสูง ทำงานง่ายๆ ได้จากบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้มิจฉาชีพยังอาจหลอกเหยื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อลงทุนเพิ่ม เป็นต้น

 

 

 

มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของ / ได้รับของไม่ตรงปก

            การหลอกให้ซื้อของ แต่ไม่ยอมส่งของให้ หรือส่งของไม่ตรงปก ก็เป็นรูปแบบที่พบการแจ้งความจำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะมีความเสียหายต่ำก็ตาม โดยสามารถแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชี เพื่อให้ออกเลขเคสไปแจ้งความดำเนินคดีได้

 

 

 

มิจฉาชีพหลอกขอข้อมูลส่วนตัว

 
            การหลอกลวงเพื่อโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า ฟิชชิง (Phishing) เมื่อรู้ตัวว่าให้ข้อมูลกับมิจฉาชีพไปแล้ว ควรเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ (User) และรหัสผ่าน (Password)ใหม่ทั้งหมดให้ครบทุกระบบ ทุกแอปพลิเคชัน และทุกแพลตฟอร์มเพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่หากถ้าเป็นกรณีข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้ระงับบัตรชั่วคราวผ่านทาง Mobile Banking และแจ้ง Call Center ของธนาคาร เพื่อให้ตัดการผูกบัญชี (กรณีถูกผูกบัญชี) และออกบัตรใบใหม่ทดแทน
 

 

นอกจากนี้ หากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความได้ 24 ชั่วโมง

            -  เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.com
            -  Call Center กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โทร. 1441 
             -  TISCO Contact Center โทร. 02 633 6000 กด *7 สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหายหรือต้องการความช่วยเหลือ
 

 

 

 

#sucuritiesawareness

#TISCOTips

#TISCO

 


 

ติดตามข้อมูลข่าวสาร TISCO ช่องทางอื่น ๆ ได้แล้ววันนี้!

⭐ Facebook > https://www.facebook.com/TISCOFinancialGroup

⭐ LINE > https://lin.ee/1NQ6yvI

⭐ Twitter > https://twitter.com/TISCOAdvisory

⭐ Instagram > https://instagram.com/tisco_official

⭐ Youtube > https://www.youtube.com/@TISCOGroup

⭐ Website > www.tisco.co.th

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน