TH EN

5 บัญชีที่ต้องมี สำหรับวางแผนชีวิตคู่

                            

โพสต์เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2567 | บทความโดย : TISCO

 
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังแต่งงานคู่สามีภรรยาควรจะใช้ชีวิตทางการเงินแบบลงเรือลำเดียวกัน ทุกคู่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบภาระต่าง ๆ ร่วมกันในครอบครัว ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ไปจนถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และการเตรียมพร้อมเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูบุตรที่จะเกิดมาให้ได้อย่างสุขสบาย
            การวางแผนทางการเงินและการทำบัญชีงบประมาณสำหรับเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และง่ายต่อการติดตามความสำเร็จของครอบครัว

 

 

 

 

บัญชีกลางของครอบครัว
 
            เป็นบัญชีที่มีไว้เพื่อรองรับค่าจ่ายร่วมกันภายในครอบครัว ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ โทรศัพท์ น้ำ ไฟ อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่น ทำบุญ ใส่ซองงานแต่ง งานศพ และอื่นๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตร ATM บัตรเดบิต หรือโมบาย แบงก์กิ้ง เพื่อความสะดวกในการใช้จ่าย
            สำหรับค่าใช้จ่ายรายปี อย่างค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ ค่าส่วนกลางที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยในส่วนนี้ควรทยอยเก็บสะสมทุกเดือน และหากเป็นไปได้สามารถเก็บเงินในส่วนนี้ไว้ในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งเมื่อถึงกำหนดที่ต้องการใช้เงิน ก็วสามารถขายกองทุนคืน ซึ่งการเก็บเงินในกองทุนนั้นจะทำให้สามารถรับผลตอบแทนได้มากกว่าการฝากเงินในออมทรัพย์
 
 
 
 
บัญชีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
 
            เป็นบัญชีที่สำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นเงินเก็บก้อนแรกที่ควรมี เพราะจะเป็นเงินสำรองในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่สามารถส่งผลกระทบทำให้ขาดรายได้ ซึ่งการเก็บเงินในบัญชีสำรองนี้ควรเก็บให้ได้ 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน โดยแบ่ง 1 ส่วนเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์และอีก 5 ส่วนเก็บในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเงินในส่วนนี้จะต้องเก็บคนละบัญชีกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายรายปี เพื่อป้องกันความสับสน 
            นอกจากนี้ การทำประกันชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งความคุ้มครองที่เราสร้างได้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยควรจะมีทุนประกันชีวิตอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี เพื่อให้คนในครอบครัวมีเวลาและมีเงินทุนสำรองมากพอที่จะตั้งหลักหากเกิดเหตุไม่คาดฝันนั่นเอง
 
 

 

 
บัญชีการลงทุน
 
            เมื่อเริ่มต้นชีวิตคู่แล้ว ก็ต้องมองถึงความมั่นคงในอนาคตเป็นธรรมดา และความมั่นคงนั้นสามารถสร้างได้จากการลงทุน ซึ่งเราสามารถจัดสรรเงินออมอย่างน้อย 10% ของเงินเดือน มาต่อยอดสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว ด้วยการสร้างบัญชีลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนรวมต่าง ๆ หรือหุ้น เพื่อสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ครอบครัว
            โดยควรแบ่งลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ทั้ง กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีระยะคุ้มครองมากกว่า 10 ปี  นอกจากนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
 

 

 

 
บัญชีอนาคตเพื่อลูกน้อย
 
            เริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ข้าวของเครื่องใช้ ค่าอาหารเด็ก ของเล่น พี่เลี้ยงเด็ก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาในระดับสูงสุดที่ต้องการ โดยอาจพิจารณาทางเลือกการออมและการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ได้รับเงินคืนแน่นอนตามที่กำหนดไว้ หรือหากรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือหุ้น เพื่อสร้างโอกาสให้เงินเติบโตในระยะยาวไปพร้อมกับลูกน้อยของเรา
 
 

 

 

บัญชีค่าใช้จ่ายส่วนตัว
 
            แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีสิ่งที่ตัวเองชอบ มีความฝันที่อยากทำ และมีไลฟ์สไตล์ที่เป็นของตัวเอง จึงควรแยกบัญชีที่ใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิง ซื้อของสะสม หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูงด้วย โดยสามารถเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตร ATM บัตรเดบิต หรือโมบาย แบงก์กิ้ง เพื่อความคล่องตัวในการเอามาใช้
 
            การใช้ชีวิตคู่ก็ต้องมีหลาย ๆ สิ่งที่เราต้องแชร์ร่วมกัน การเงินก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น หากจัดสรรเงินไว้เป็นอย่างดีตามรายจ่ายที่ประมาณการไว้ในครอบครัว ตั้งบัญชีแยกออกมาตามเป้าหมายต่าง ๆ และปฏิบัติตามกติการ่วมกันอย่างมีวินัยแล้ว ชีวิตคู่ก็จะมีสถานะทางการเงินที่ดีและมีความสุขได้อย่างแน่นอน
 
 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสาร TISCO ช่องทางอื่น ๆ ได้แล้ววันนี้!

⭐ Facebook > https://www.facebook.com/TISCOFinancialGroup

⭐ LINE > https://lin.ee/1NQ6yvI

⭐ Twitter > https://twitter.com/TISCOAdvisory

⭐ Instagram > https://instagram.com/tisco_official

⭐ Youtube > https://www.youtube.com/@TISCOGroup

⭐ Website > www.tisco.co.th

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน