TH EN

ต้องเตรียมเงินเท่าไร ลงทุนอย่างไร ถึงจะส่งลูกเรียนจบป.โท

                            

โพสต์เมื่อ 28 สิงหาคม 2561 | โดย คุณณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ CFP® Wealth Manager

ใจความสำคัญ
  • เงินที่ต้องใช้ส่งให้ลูก 1 คน เรียนโรงเรียน “เอกชน”จนจบปริญญาโทอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท
  • แม้จะนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้... แต่ก็ต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตด้วยเหมือนกัน
  • แนะนำออมเงินทุกเดือนเพื่อจ่ายค่าเทอม แบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ
  • ถ้าเงินสำหรับจ่ายค่าเรียน ป.ตรี ที่สามารถเก็บ และลงทุนล่วงหน้าได้ 15-20 ปีอาจนำไปลงทุนในหุ้นประมาณ 50% เมื่อใกล้เวลาจ่ายจึงค่อยโยกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ

 

ในปีภาษี 2561 รัฐบาลได้ให้ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับบุตรเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

  1. ค่าลดหย่อนบุตรสำหรับลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปเป็นคนละ 60,000 บาทจาก 30,000 บาท ที่เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย และเกิดในปี 2561 เป็นต้นไป 
  2. ให้นำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับค่าฝากครรภ์ และค่าตลอดบุตรที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

การเพิ่มค่าลดหย่อนในครั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรองรับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กำลังปรับเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานลดลง

แต่การมีบุตรเพิ่มขึ้นก็ตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าเล่าเรียน ผมจึงแนะนำการวางแผนการเงิน เพื่อเป็นทุนการศึกษาบุตรเบื้องต้น คือต้องสำรวจค่าเทอมของโรงเรียนที่เราอยากให้ลูกได้เข้าเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของภาครัฐ เอกชน หรือจะเป็นนานาชาติ ซึ่งค่าเทอมก็จะแตกต่างกัน ครั้งนี้ผมขอยกเป็นตัวอย่างประมาณการค่าเทอมของ “โรงเรียนเอกชน” เพื่อคำนวณให้เห็นตัวเลขได้ ดังนี้ ครับ

ประมาณการทุนการศึกษาของบุตรตั้งแต่แรกเกิด ระดับอนุบาล ระดับประถม ระดับมัธยม ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท
รวมเป็นจำนวนเงินที่ใช้เพื่อการศึกษาทั้งหมด 193,595 707,787 1,138,203 1,756,667 2,214,222


หมายเหตุ :
 ตารางข้อมูล เป็นผลสรุปที่ได้จากการคำนวณค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนในประเทศไทยโดยประมาณ โดยรายละเอียดของการคำนวณได้มีการกำหนดให้อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าเทอมอัตราร้อยละ 5 ต่อปี แต่เมื่อเข้าเรียนในปีแรกแล้วค่าใช้จ่ายจะคงที่ไปตลอดในแต่ละระดับการศึกษา ซึ่งหลังจากที่บุตรเริ่มเข้าเรียนในปีแรกของแต่ละระดับชั้นแล้ว เงินทุนที่เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เพื่อทยอยจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนโดยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี (เป็นตัวเลขสมมติ)

เมื่อคำนวณค่าเทอมตามระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทต่อการมีบุตร 1 คน จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายโดยประมาณที่ราว 6 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ดังนั้นการวางแผนการเงินเพื่อให้บุตรมีเงินเพียงพอที่จะใช้ในการศึกษาแต่ละระดับชั้น เราคงต้องมาดูว่ามีความพร้อมแค่ไหน มีทรัพย์สิน และรายรับที่จะใช้เป็นทุนการศึกษาบุตรมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับค่าเทอมที่จะต้องจ่ายในอนาคต

 

วิธีการออมเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาบุตรมีหลายวิธี แต่การแบ่งเงินรายรับมาเป็นเงินออมในแต่ละเดือนก็เป็นเกราะป้องกันไว้ไม่ให้รายจ่ายค่าเทอมมาเป็นภาระมากเกินไปเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่าย ซึ่งเมื่อเราเก็บเงินได้ครบตามระดับการศึกษาแล้ว เงินส่วนนี้ต้องลงทุนที่เป็นความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายค่าเทอมเงินส่วนนี้พร้อมที่จะจ่ายได้ทันที

แต่ก่อนหน้าที่บุตรจะเข้ารับการศึกษาระดับสูงอย่างปริญญาตรีหรือปริญญาโทที่มีเวลาออมเงินก่อนจะถึงเวลาจ่ายค่อนข้างนาน 15-20 ปี เงินออมส่วนนี้ก็สามารถลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาได้ โดยอาจจะลงทุนหุ้นได้สูงถึง 50% แล้วแต่เป้าหมายว่าต้องการผลตอบแทนให้เงินเพิ่มขึ้นมาระดับไหนถึงจะเพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอม แต่ก็จะต้องลดความเสี่ยงลงเมื่อใกล้จะถึงเวลาที่จะต้องจ่ายค่าเทอมเช่นกัน

ส่วนค่าเทอมที่มีระยะเวลาออมเงินไม่นานเช่น 3-5 ปีก็ไม่ควรลงสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงของเงินที่ต้องจ่ายและอาจจะทำให้เงินไม่เพียงพอเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเทอมได้ ฉะนั้นการมีบุตรเพิ่ม 1 คน นอกจากได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มแล้ว อย่าลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอมที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงตามมาด้วย การจัดพอร์ตลงทุนให้เพียงพอกับค่าเทอมของบุตรก็สำคัญ ซึ่งถ้าไม่มีเวลาติดตามการลงทุน หรือไม่เชี่ยวชาญตลาดลงทุน ก็ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ครับ

* หมายเหตุ ตัวเลขค่าเทอมโรงเรียนเอกชนเป็นเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น อาจเพิ่มขึ้น หรือลดลงจากราคาดังกล่าวขึ้นอยู่กับโรงเรียนที่ผู้ปกครองเลือก

© สงวนลิขสิทธิ์ 2561 ธนาคารทิสโก้ จำกัด มหาชน